10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยเผชิญกับความท้าทายทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งที่เกิดบ่อยขึ้น ผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น และประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คู่แข่งหลักอย่างเวียดนามและอินเดียยังรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกได้
โดยไทยส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 25 จากปีก่อน ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวลดลงเพียงร้อยละ 2 จากมาตรการห้ามส่งออกข้าว เพื่อรักษาปริมาณข้าวในประเทศในช่วง COVID-19 และอินเดียส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวไทยตกมาเป็นที่ 3 จากอดีตเคยอยู่ที่ 1
เรามาดูกันดีกว่าว่าทำไมส่วนแบ่งการตลาดข้าวไทยในตลาดโลกถึงลดลง
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
Toggleพันธุ์ข้าวไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แข่งด้านราคาไม่ได้เพราะ “มีราคาแพงกว่า”
ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง ที่ผ่านมาข้าวไทยมีราคาแพงกว่านับ 100 เหรียญ/ตัน ในขณะที่ปัจจุบัน “ความต่างของราคา” ข้าว 5% ของไทยอยู่ที่ 420 เหรียญ อินเดีย 338 เหรียญ เวียดนาม 370 กว่าเหรียญ ปากีสถาน 358 เหรียญ เมียนมา 350 กว่าเหรียญ โดยมีข้อสังเกตว่าถ้าความห่างของราคาข้าวเกินกว่า 50 เหรียญก็แข่งขันได้ยากแล้ว
สมัยก่อนรัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้ระบบนำเข้าข้าวแบบ G to G โดยหน่วยงาน NFA นำเข้าด้วยการประมูลซื้อข้าวจากไทยและเวียดนาม ประเทศละ 700,000-800,000 ตัน แต่ภายหลังฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าว คิดภาษี 30% และเมื่อภาษีสูงขึ้น ฟิลิปปินส์จึงเลือกซื้อข้าวขาวพื้นนุ่มจากเวียดนามที่ราคาถูกกว่าข้าวขาวไทย จึงทำให้ยอดส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2563-2564 ลดลงเหลือแค่ 70,000-100,000 ตัน จากที่เคยส่งออกถึง 700,000-800,000 ตัน โดยเวียดนามสามารถขายให้ฟิลิปปินส์ได้ถึง 2.4 ล้านตัน
ภารกิจเราตอนนี้ไม่ใช่การออกไปหาตลาดใหม่ แต่ต้องไปชิงตลาดข้าวเดิมกลับคืนมา อย่างตลาดสิงคโปร์และฮ่องกง ไทยเคยมีส่วนแบ่งตลาด 80-90% หรือปีละ 300,000 ตัน ปัจจุบัน 2 ตลาดนี้ก็หันไปซื้อข้าวเวียดนามมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาดไทยเหลือประมาณ 50% หรือ 100,000 ตัน
ตลาดแอฟริกาเคยนำเข้าข้าวหอมผสมจากไทยปีละ 700,000-800,000 ตัน ตอนนี้ไม่มีการนำเข้าสักเม็ด เพราะถูกข้าวเวียดนามดึงไปหมด ตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวหอมมะลิ เวียดนามก็เริ่มรุกเข้าไปแย่งแล้ว ปีก่อนส่งออกได้ 30,000-40,000 ตัน ส่วนอเมริกาและแคนาดาที่เป็นตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมียม ตอนนี้เวียดนามก็เริ่มเข้าไปแล้ว และยังมีข้าวหอมจากกัมพูชาเข้ามาแข่งด้วย เช่นเดียวกับตลาดข้าวหอมในจีนที่ข้าวหอมเวียดนามและกัมพูชาเข้าไป
ดังนั้น ถ้าไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ตลาดพรีเมี่ยมข้าวหอมมะลิก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ส่วนตลาดบริโภคข้าวในประเทศไทย ซึ่งปกติมีอยู่ครึ่งหนึ่ง 10 ล้านตัน ก็ลดลงเช่นกันเพราะนักท่องเที่ยวหายไป 30-40 ล้านคนหลังโควิด
ส่วนที่ข้าวไทยกำลังสูญเสียตลาดส่งออกหลักๆ ไปก็เพราะ “ไทยไม่มีข้าวนุ่ม” อย่างปีนี้ก็เพิ่งเริ่มมาพัฒนา “ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ 79” ออกมา แต่ราคายังค่อนข้างสูงหรือแข่งขันไม่ได้ จึงต้องเน้นตลาดในประเทศก่อน อย่างเมื่อ 5-6 ปีก่อน ไทยเริ่มนำ “ข้าวหอมพวง” ของเวียดนามมาปลูก
ตอนนี้มีผลผลิตที่ดีขึ้น ราคาข้าวหอมพวงที่ปลูกในไทยลดลงจาก กก.ละ 16-17 บาท เหลือ กก.ละ 13-14 บาท หรือใกล้เคียงกับราคาข้าวขาวที่ขาย กก.ละ 12-13 บาท ทำให้ปี 2565 จะเริ่มส่งออกข้าวหอมพวงไปเป็นมาตรฐานข้าวหอมไทย
เพราะข้าวตัวนี้สามารถทำราคาส่งออกได้ใกล้เคียงกับ “ข้าวหอมจัสมิน 85” ของเวียดนาม ส่วนข้าวหอมมะลิเดิมที่ไทยเคยแพงมาก ตันละเป็น 1,000 เหรียญ ตอนนี้ต้องลดราคาลงมาเรื่อยๆ เหลือแค่ 700-800 เหรียญ ส่วนข้าวหอมปทุมขายอยู่ประมาณ 600 กว่าเหรียญเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย ซึ่งต่างจากข้าวหอมมะลิของไทยราคาในตลาดมีความผันผวนยากต่อการทำราคากับลูกค้า
The World’s Best Rice 2022
การประชุมข้าวโลก ประจำปี 2022 จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประกวดสายพันธุ์ข้าวจาก 9 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน จีน และสหรัฐฯ ผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิผกาลำดวน จากกัมพูชา ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกไปครอง ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ไทยเสียแชมป์ เป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 คือ ข้าวหอมจากเวียดนาม
ส่วนในอนาคตข้าวหอมมะลิของเพื่อนบ้าน จะพัฒนามาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยได้ทั้งหมด อย่างในลาวปีนี้ส่งแข่งและได้ถึงที่ 4 ซึ่งเตือนว่าไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างจริงจังให้มีพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลต้นทุนผลิตให้ลดลง และผลผลิตต่อไร่ต้องมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
สำหรับใครที่สนใจให้เราช่วยทำการตลาดในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้าวแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ HelloAds มาได้เลย