ใครเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซ! Shopee vs Lazada ศึกยักษ์ใหญ่เจ้าตลาด E-Commerce ในไทย

รู้หรือไม่ ในปี 2564 ที่ผ่านมา การชอปปิงออนไลน์ของไทย เพิ่มขึ้น 18% คิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก สูงกว่าสหรัฐอเมริกาที่ 15.9% 

และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ของประเทศที่ชอปปิงออนไลน์ต่อสัปดาห์มากที่สุดในโลก อ้างอิงจากรายงานความเคลื่อนไหวด้านดิจิทัลของโลกในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่จัดทำโดย We Are Social และ Hootsuite 

โดยแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยคือ Shopee และ Lazada ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าระหว่าง Shopee และ Lazada แบบไหนดีกว่ากัน เนื่องจากปัจจุบันนี้การทำการตลาดด้วย E-Commerce กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ประกอบการ เพราะช่องทางนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายใหญ่สามารถเพิ่มโอกาสในการขายและขยายช่องทางออกไปทั่วประเทศและในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงสามารถหาฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น

แต่เมื่อทุกคนสามารถใช้ช่องทางนี้ได้ การแข่งขันก็ย่อมตามมาด้วยเช่นกัน แต่สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่หรือแบรนด์ที่กำลังจะเข้ามาจับในตลาดนี้ อาจมีข้อสงสัยว่าระหว่าง Shopee และ Lazada แพลตฟอร์มไหนมีความน่าสนใจกว่ากัน

 

ส่องข้อมูลเบื้องต้นของ Shopee และ Lazada ยักษ์ใหญ่ตลาดอีคอมเมิร์ซ

บริษัทแม่ของ Shopee คือ Sea Limited ที่มีมูลค่ามากถึง 1.17 ล้านบาท โดยในปี 2564 มีรายได้ 13,322 ล้านบาท เติบโตถึง 129% ขาดทุน 4,973 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่ม 19% และในปี ในปี 2565 Shopee มีรายได้ 21,709 ล้านบาท กำไร 2,380 ล้านบาท เติบโตถึง 147.46% ในขณะที่บริษัทแม่ของ Lazada คือ Alibaba Group ที่มีมูลค่ามากถึง 7.96 ล้านบาท โดยในปี 2564 Lazada มีรายได้ 14,675 ล้านบาท เติบโต 46% กำไร 226 ล้านบาท เติบโต 105% และในปี 2565 Lazada มีรายได้ 20,675 ล้านบาท กำไร 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 82.06% 

 

Shopee แพลตฟอร์มที่กำลังมาแรง

Shopee เป็นเว็บอีคอมเมิร์ซมาแรงจากสิงคโปร์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าได้รับความนิยมพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และในปีที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลดบน App Store ที่สูงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเว็บอีคอมเมิร์ซทั้งหมด เพราะ Shopee ให้ส่วนลดกับลูกค้าในครั้งแรก และอาจถือว่าเป็นข้อได้เปรียบกว่า Lazada รวมไปถึงมีโปรโมชัน Shopee Coin ซึ่งเป็นรูปแบบของบริการออกเป็นส่วนลดให้ลูกค้านำมาใช้ได้ในครั้งถัดไป และมีบริการขนส่งที่ค่อนข้างหลากหลายกว่า Lazada เพราะมีการใช้บริการขนส่งหลายที่ อย่างไปรษณีย์ไทย Kerry หรือ DHL

แม้ว่า Shopee ยังมีฐานลูกค้าน้อยกว่า Lazada เนื่องจากแพลตฟอร์ม Lazada ได้เปิดตัวมานานกว่า Shopee จึงทำให้ฐานลูกค้าของ Shopee มีขนาดที่เล็กกว่า แต่ Shopee ก็ถือว่าเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

Lazada แพลตฟอร์มที่เป็นผู้นำในอาเซียน

เรียกได้ว่า Lazada เป็นหัวหอกด้านอีคอมเมิร์ซของ Alibaba เพราะในปีก่อน Alibaba ได้ทุ่มเงินลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญ เพื่อกระตุ้นช่องทางการขายของ Lazada รวมถึงยกระดับในเรื่องการให้บริการ เพื่อผลักดันให้ Lazada เป็นเว็บอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในอาเซียนให้ได้ สิ่งนี้ช่วยให้ Lazada สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมากนั่นเอง อีกทั้ง Lazada มีระบบเปิดร้านได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจัดการขนส่งโดยใช้เวลารวดเร็ว อีกทั้งทาง Lazada ก็จะช่วยรับผิดชอบกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการส่งสินค้าอีกด้วย

นอกจากนี้ Lazada ยังมีการเปิดอบรมและระบบที่ชัดเจน มีการเปิดโรงเรียนสอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย โดยเป็นการเปิดอบรมผ่านทาง Taobao University ซึ่งมีการอบรมสอนการใช้งานของ Lazada ในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าใจระบบมากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น 81% ของ Lazada ยังได้รับการสนับสนุนจาก Alibaba ทำให้แพลตฟอร์มนี้เต็มไปด้วยสินค้าจากประเทศจีนที่มีจำนวนมากและตั้งขายในราคาถูก ทำให้ร้านค้าบางร้านต้องมีการแข่งขันกับทางจีน แต่ก็สามารถเอาชนะได้เพราะสินค้าจากจีนใช้เวลาการขนส่งที่นานกว่าสินค้าพร้อมส่งในไทยนั่นเอง

ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้เอื้อกับการค้นหา Search Engine ด้วยกันทั้งคู่ เพราะทั้งสองเป็นช่องทางใหญ่ของประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งสำหรับ Keywords ของสินค้าต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้การค้นหาผ่านทาง Google บ่อยครั้ง ทำให้การทำ SEO Content และ Outbound Marketing ส่งผลต่อหน้าสินค้าเราได้เช่นกัน

 

สถิติการใช้งานของ Shopee vs Lazada

Shopee มีผู้เข้าชมมากกว่า 290 ล้านคนต่อเดือนจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย ในเวลาเพียง 5 ปี Shopee กลายเป็นแอปที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด อันดับแรกในไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับสามของโลกในหมวดการชอปปิง

ในขณะที่ Lazada มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านรายต่อเดือนและผู้ใช้งานประจำ 80 ล้านรายต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 200% นับตั้งแต่ Alibaba ครอบครอง Lazada

แม้ว่าในระยะแรก Shopee จะแซงหน้า Lazada อย่างมากเมื่อพูดถึงจำนวนผู้เข้าชมในหนึ่งเดือน แต่ Lazada ยังคงทำรายได้มากกว่า 16.322 ล้านดอลลาร์ ในทางกลับกัน Shopee รวบรวมรายได้ 6.2 พันล้านดอลลาร์ แต่สิ่งนี้ยังคงถูกมองว่าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากเพิ่มขึ้น 74.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

และในประเทศไทย จากข้อมูลของ Data.ai พบว่า จำนวน Active User รายสัปดาห์ของ Shopee เริ่มทรงตัวตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และปรับตัวลดลงก่อนขยับขึ้นมาเล็กน้อยในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 เป็นราว 17.5 ล้านบัญชีต่อสัปดาห์ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงแพ้ Lazada คู่แข่งตลอดกาลมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 จนถึงปัจจุบันที่ Lazada ประเทศไทย มีจำนวน Active User อยู่ราว 21 ล้านบัญชีต่อสัปดาห์ รวมถึงการรายงานผลประกอบการประจำปี 2022 ที่ Lazada มีกำไรสุทธิ 413 ล้านบาท และเป็นปีที่ 2 ติดกันที่มีกำไรสุทธิ ส่วน Shopee ยังขาดทุนสุทธิเช่นเดิม

 

เปรียบเทียบกลยุทธ์ของ 2 แพลตฟอร์มรายใหญ่ Shopee vs Lazada ในยุคที่ E-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดด

เนื่องจากในปัจจุบันอัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะ B2C พุ่งสูงขึ้น บวกกับการแข่งขันของการทำการตลาดออนไลน์ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพิ่มมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในปี 2563 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท ขณะที่คาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท

 

Shopee ใช้กลยุทธ์ยกระดับประสบการณ์การซื้อ-ขายบนโลกอีคอมเมิร์ซ

Shopee ต้องการยกระดับประสบการณ์การซื้อขายบนโลกอีคอมเมิร์ซในทุกมิติ ผ่านแนวคิดการนำความบันเทิงมาเป็นส่วนผสมหนึ่งของการตลาดเช่นเดียวกัน ด้วยการเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การชอปปิงที่สนุกนานและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม

ส่งผลให้ Shopee ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งสำหรับแอปพลิเคชัน E-Commerce ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เติบโตถึง 110% เนื่องจากเป็นแอปที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยที่มีพฤติกรรมชอบการสื่อสาร พูดคุุยกับผู้ขายก่อนตัดสินใจซื้อ นำมาสู่การพัฒนาฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ซื้อได้คุยกับผู้ขายแบบทันทีผ่านการแชท ซึ่งนอกจากจะดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น ยังสามารถเพิ่ม Engagement ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีการเปิดตัว Shopee Live ฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมมิงที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงได้แบบเรียลไทม์

 

Lazada เข้าสู่เทรนด์ Shoppertainment สร้างความบันเทิงระหว่างการชอปปิง

Lazada ตีโจทย์จาก Customer Journey ของกลุ่มลูกค้าแล้วพบว่า เหล่านักชอปจะใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มเพียงไม่นาน โดยส่วนใหญ่มักเข้ามาค้นหาสินค้าที่ต้องการ หลังเปรียบเทียบราคาจนได้ข้อมูลพอใจแล้ว จะคลิก สั่งซื้อ และชำระค่าสินค้า โดย Lazada มองเห็นว่าขั้นตอนการตัดสินใจซื้อยังขาดเรื่องของ Emotional โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขาย 

Lazada จึงมีการพัฒนา ECO-System บนแพลตฟอร์ม ผ่านไลฟ์สตรีมมิงด้วย Laz Live เพื่อมุ่งสู่กลยุทธ์ Shoppertainment ให้ผู้ซื้อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายและใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ด้วยภาพและเสียงที่คมชัด สามารถจัดการข้อความที่ส่งเข้ามาขณะไลฟ์ ลูกค้าสามารถสอบถามและตอบโต้ได้จบทุกขั้นตอนในแอปพลิเคชัน ช่วยให้การซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มง่ายขึ้น

 

TikTok ภัยใหม่ที่มาคุกคามแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ Shopee และ Lazada

แน่นอนว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งใครที่เล่น TikTok จะรู้กันดีว่าเราอาจจะเผลอตกเป็นลูกค้าของพ่อค้าแม่ค้าใน TikTok โดยไม่รู้ตัว เพราะการนำเสนอเนื้อหาแบบเพลินๆ เล่าเรื่องไป พูดคุยตลกๆ ไป แล้วมีการแทรกการขายของ ทดลองใช้สินค้าให้ดูเห็นๆ ก็ทำให้เราเผลอกดซื้อสินค้าไปได้อย่างง่ายดาย

โดยในปี 2565 TikTok เริ่มบุกตลาดมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Shawn Yang นักวิเคราะห์จาก Blue Lotus Research Institute ได้ประเมินว่า ยอดขายออนไลน์ของ TikTok ในปี 2566 อาจจะทะลุ 20% และยอดขายสินค้าโดยรวมของ TikTok คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า อยู่ที่ 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า TikTok ตั้งเป้าจะทำให้ยอดขายสินค้าโดยรวมของปีนี้เติบโตถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเทียบกับ Shopee ยอดขายสินค้าออนไลน์โดยรวมของปี 2565 อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนยอดขายสินค้าโดยรวมของ Lazada ในปี 2564 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยการเติบโตนี้ทำให้มีการสำรวจจากบริษัท Cube Asia ว่าหากแบรนด์ใช้จ่ายในร้านค้าบนแพลตฟอร์ม TikTok นี้ จะทำให้เราลดการใช้จ่ายจากช่องทางอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งผลสำรวจจากอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ พบว่านักการตลาดจะลดค่าใช้จ่ายจากแพลตฟอร์มอื่น โดยลดจาก Shopee 51% ลดจาก Lazada 45% และลดจากช่องทางออฟไลน์ 38% 

ด้วยเหตุนี้ Jonathan Woo นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Phillip Securities Research ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า TikTok อาจจะมีโอกาสสร้างความเสี่ยงให้กับ Shopee โดย Shopee อาจจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับ TikTok ไปบ้าง แต่สำหรับ Lazada แล้วไม่น่าได้รับความเสี่ยงแบบเดียวกัน เนื่องจาก Lazada มีการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มมาตั้งแต่ปี 2020 ดังนั้น โดยรวม TikTok อาจมีโอกาสเติบโตได้พอๆ กับ Shopee และ Lazada เลยทีเดียว

หากใครที่สนใจอยากเริ่มทำการตลาด แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง และต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถาม HelloAds เอเจนซีรับทำการตลาดออนไลน์แบบครบวงจรกันได้เลย

ติดต่อขอคำปรึกษาฟรี! ให้เราช่วยธุรกิจของคุณ ให้ลูกค้ารู้จักคุณ

เพิ่มยอดขาย ก้าวสู่การตลาดในโลกออนไลน์ เพราะเรามั่นใจ ว่าเราจะช่วยให้ธุรกิจคุณ เติบโตบนโลกดิจิตอลได้อย่างแท้จริง

Share this post

บทความที่เกี่ยวข้อง